Pseudoscience เกือบเชื่อละ แต่ไม่เชื่อดีกว่า : การทำโพลและหนังสือ How-to

yeah science

Table of Contents

เราเป็นคนนึงนะ ที่แบบสงสัยอยู่ตลอดเวลาเห็นผลโพล โดยเฉพาะโพลเลือกตั้ง ความนิยมในพรรคการเมือง นักการเมืองทั้งหลาย ว่าเขาไปสำรวจกันยังไง อยู่มาจะวัยกลางคนละ ยังไม่เคยถูกสำรวจเลยสักครั้ง ยิ่งสมัยนี้ทำโพลออนไลน์ออกจะง่ายแต่ก็ไม่เคยได้รับลิ้งค์มาบ้างเลย หลัง ๆ มานี้ยังพอดูดีหน่อยตรงที่ผลโพลยังมีความเสถียร อย่างลำดับความนิยมของพรรคการเมืองในระหว่างโพลไม่ได้แตกต่างกันมาก อาจมียกเว้นบางโพลที่ออกแนวเข้าข้างตัวเองอย่างเห็นได้ชัด

ต้องบอกว่าถามใคร

ผลโพลทั้งหมดจะให้ความสำคัญที่ผลลัพธ์ โดยมีอ้างอิงบ้างเล็กน้อยว่าเก็บข้อมูลจากไหน ซึ่งมักเป็นตัวเลขที่เข้าใจง่าย ๆ เช่น อายุ 20-60 ปี จำนวนหนึ่งแสนคนทั่วประเทศ แต่มักจะไม่ค่อยแจกแจงเป็น % เป็นสัดส่วนให้ชัด เราในฐานะที่เรียนสถิติมา (แม้จะเกรดไม่ดีนัก) อยากอธิบายเล็กน้อย (เอาจริง ๆ ไม่ต้องเรียนสถิติในระดับมหาวิทยาลัยหรอก เอาแค่สถิติกับความน่าจะเป็นช่วงมัธยมก็พอคิดได้) การทำโพลคือสถิติเชิงบรรยาย จำนวนกลุ่มตัวอย่างสำคัญก็จริง แต่ไม่สำคัญไปเก็บใครมาบ้าง หรือที่เรียกกันว่าเป็นตัวแทนประชากรได้ดีขนาดไหน เช่น หากจะถามผู้ชายอายุ 25 ปี เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยถามคนที่กำลังกินวีแกนอยู่ในฟิตเนส กับคนที่กินฟาสต์ฟู๊ดอยู่ แม้คำตอบจะออกมาเหมือนกันว่าออกกำลังการสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นำ้หนักของคำตอบของ 2 คนนี้ย่อมต่างกัน

ผลลัพธ์ไม่สำคัญเท่าวิธีการ (ได้มาซึ่งคำตอบ)

สิ่งหนึ่งที่โพลไม่เคยบอกเลยก็คือวิธีการถามตอบของโพลนั้น ๆ ลองพิจารณาดูระหว่าง… “คุณชอบพรรคการเมืองไหน” กับ “เรียงลำดับพรรคการเมืองที่คุณชอบจากมากไปหาน้อย” แล้วต่อด้วย “ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปคุณจะเลือกพรรคการเมืองไหน” รวมถึงลำดับการบอกคำตอบว่าเป็นตัวเลือก กาถูกผิด หรือใส่ตัวเลข วิธีการตั้งคำถามแม้ไม่ได้เป็นการชี้นำโดยตรง แต่จะมีกลไกการสร้างเงื่อนไขเบา ๆ (Priming) เช่น จากตัวอย่าง จริง ๆ แล้วโพลต้องการคำตอบในคำถามที่ 2 เรื่องพรรคที่คุณจะลือก แต่คำถามนำที่ไม่ต้องคิดเยอะอย่าง “ชอบพรรคไหน” จะนำไปสู่คำตอบง่าย ๆ ว่า ชอบพรรค A เลือก พรรค A แต่คำถามนำที่ต้องคิดเยอะอย่าง “เรียงลำดับพรรคที่ชอบ” จะนำไปสู่คำตอบที่คิดเยอะ ชอบพรรค A แต่จะเลือกพรรค B เพราะมีโอกาสชนะมากกว่า (เลือกเชิงยุทธศาสตร์) อ้างอิงแบบวิชาการสั้น ๆ ก็คือคำถามในงานวิจัยก่อนจะนำไปใช้จริงต้องมีการหาความเที่ยง ความตรงก่อน เอาคำถามไปทดลองถามกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ถ้าตอบมาใกล้เคียงกันก็โอเค แต่ถ้าตอบมาต่างกันสิ้นเชิง แสดงว่าตั้งคำถามไม่เคลียร์ก็ต้องคัดออก หรือถ้าจากตัวอย่างก็ต้องให้กลุ่มตัวอย่างนึงตอบคำถามแรกก่อน คำถามที่สอง ส่วนอีกกลุ่มตัวอย่างก็ตอบคำถามที่สองอย่างเดียว ถ้าผลลัพธ์ไม่ต่างกันแสดงว่าคำถามแรกไม่มีผล แต่หากผลลัพธ์ต่างกัน ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถาม

นี่คือการทำวิจัยจริงจัง ส่วนสำหรับโพลคือเข้าใจได้แหละว่าไม่มีเวลามากขนาดนั้น แค่อยากจะชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยคนทำโพลก็ต้องแนบวิธีการตั้งคำถามด้วย เพื่อให้คนอ่านจะได้ประเมินต่อเองได้ ไม่ใช่เชื่อแต่ตัวเลขผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว

จะพิจารณาว่าข้อความใดเป็นหลักการหรือทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ให้ดูว่า

มันมีความสามารถในการพิสูจน์ผิดได้ไหม

Concept ข้างบน ref จากคาร์ล ปอปเปอร์ นักปรัชญาสายวิทยาศาสตร์ อาจารย์ของปู่จอร์จ โซรอส คุณเคยได้ยินคำพูดประโยคแบบนี้ไหม…ปีหน้าหุ้นจะทำ all time high แต่หากไม่ก็จะอยู่เท่าเดิม ไม่ก็ลดลง…หนึ่งบิทคอยน์ เท่ากับหนึ่งบิทคอยน์…ประโยคแบบนี้มีพลังในการอธิบายให้คนเชื่อ ฟังดูแล้วมันก็จริง (จริง ๆ แหละ) เป็นคำพูดที่จริงแน่นอน ไม่มีวันผิดได้เลย มีหนังสืออยู่ประเภทนึงที่ตามร้านหนังสือมักจะถูกนำมาวางรวมกันในหมวดที่ว่า “จิตวิทยา-พัฒนาตัวเอง” เราอยากขอแบ่งหนังสือแบบนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เขียนโดยนักวิจัยโดยตรง แต่เป็นนักวิจัยที่เขามีความสามารถในการเขียน ในการสื่อสาร สามารถนำงานวิจัยซึ่งเคยเป็นบทความวิชาการมาก่อน เป็นอาจารย์ในสาขาที่เขาเขียนถึง โดยเอามาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวแล้วเขียนออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ ได้ ที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้ เช่น Freakonomics (เศรษฐพิลึก) , Thinking Fast and Slow; Daniel Kahneman , เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม; Richard Thaler หรือที่ยอดฮิตมาก ๆ อย่าง Sapiens เนื้อหาหลักของหนังสือจะเป็นการโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อตามเขา โดยอ้างอิงหลักฐานมาสนับสนุน และเอาหลักฐานที่โต้แย้งมานำเสนอแล้วอธิบายว่ามันไม่สมเหตุสมผลอย่างไร ทำไมถึงตกไป โดยมักจะเป็น concept ใหญ่ของศาสตร์นั้น ๆ อย่างเล่มที่เราชอบมากก็คือเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โดยเขาโต้แย้งเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในระดับรากฐานเลยก็คือการที่กระแสหลักมองมนุษย์เป็นผู้มีเหตุผล (สัตว์เศรษฐกิจ) สามารถตัดสินใจทุกอย่างได้ด้วยหลักเหตุและผล แล้วทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดก็สร้างบนรากฐานนี้ แต่พอดูการกระทำของมนุษย์จริง ๆ แล้ว พวกเราทำอะไรตามอารมณ์กันตลอดเวลา อย่างนี้เท่ากับเราเรียนหนังสือผิดตำรามาตลอดเลยหรือเปล่า?

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เขียนโดยคอลัมนิสต์ คนที่ดังหน่อยอย่าง Malcolm Gladwell เล่มล่าสุดที่อ่านคือ Talking to Stranger (ศิลปะการอ่านคน) David Epstein วิชารู้รอบ (Range) เช่นเดียวกัน เนื้อหาหลักก็คือการพยายามโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อ โดยมักจะเริ่มจากความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่เพียงแต่หลักฐานสนับสนุนอาจจะมีทั้งงานวิจัยโดยตรง หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ บทสัมภาษณ์บุคคลจริง แนวคิดก็จะคล้าย ๆ กับกลุ่มแรก เพียงแต่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นแย้ง concept ใหญ่ของศาสตร์ อาจเป็นระดับความเชื่อของบุคคล อย่างเรื่องวิชารู้รอบ เขาแย้งกฏ 1,000 ชั่วโมง เรื่องการฝึกฝนให้ลึกไปอย่างใดอย่างหนึ่งถึงจะเป็นคนเก่งได้ โดยเขาแย้งว่าคนเก่งหลายคน (โดยเฉพาะนักกีฬา) มีพื้นฐานมาจากการที่ได้ฝึกฝนหลายอย่างมาก่อน แล้วถึงค่อยมาลงลึกในภายหลัง

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่เขียนโดยนักทั้งหลายที่ไม่ใช่นักวิจัยและคอลัมนิสต์ อาจเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน ที่ประสบความสำเร็จจริงในสายงานที่ตัวเองทำ (หรือประสบความสำเร็จเพราะเขียนหนังสือเก่งก็เป็นไปได้) *ย้ำอีกครั้งว่าเรากำลังเขียนถึงหนังสือที่อยู่ในชั้น จิตวิทยา – พัฒนาตัวเองนะ ไม่ใช่ชีวประวัติ 

concept เดียวกันกับทั้งสองกลุ่มบน คือการโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อในหัวข้อที่ตัวเองต้องการจะสื่อ แต่สิ่งที่ต่างก็คือมักจะมีแต่ข้อสนับสนุน ไม่มีข้อโต้แย้ง concept นึงที่เอามาใช้มากในวงการธุรกิจ คือเรื่องการโปรโมตคนใน หากเป็นข่าวฟุตบอลคงใช้คำว่า DNA สโมสร…องค์กรขนาดใหญ่ทุกองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ยั่งยืนมาถึงปัจจุบันได้เพราะผู้บริหารเป็นคนในเพราะรู้วัฒนธรรม เข้าใจตัวตนของบริษัท อาจมีบ้างบางช่วงที่คนขาด ต้องจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาคั่นช่วง แต่ช่วงนั้น คนในก็ถูกเทรนนิ่งอยู่…ข้อสนับสนุน บริษัทใหญ่ทุกบริษัทที่ตั้งมา 100 ปี และยังคงอยู่ในปัจจุบัน บวกสโมสรบาร์เซโลน่า ข้อโต้แย้ง แมนฯ ยูไนเต็ด ทั้งที่คุมทีมอื่น และทีมตัวเอง

ไม่รู้ไม่ผิด แต่หากรู้แบบผิด ๆ แล้วเอาไปใช้ยังไงก็มีปัญหา

โพลและ How-to มีพลังในการอธิบาย พลังในการโน้มน้าวให้คนเชื่อตาม โดยใช้วิธีการสรุปแบบเหมารวม พยายามจะใช้แนวคิดแบบ one-size fit all ในทุกประเด็น ถามแต่คนที่จะให้คำตอบสนับสนุนประเด็นที่ผู้ทำต้องการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจริง หรือเป็นวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด