โพสต์นี้คงไม่เกี่ยวกับงาน หรือธุรกิจที่ทำโดยตรง แต่เราเชื่อว่าความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (หรือ empathy ที่ฮิต ๆ พูดกัน) คือหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตในทุกมิติ ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน
ช่วงนี้เห็นคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้ากันมาก เพื่อนสนิท รุ่นพี่รุ่นน้อง คนที่ห่วงใย ฯลฯ เราเกิดคำถาม 2 อย่าง แบบแคบหน่อยก็คืออารมณ์เหมือนแบบเวลาเราไปทำงานให้ลูกค้าที่ทำสินค้าที่เราอาจไม่ค่อยสนใจมากนัก เพราะได้รับโจทย์ในสินค้านั้นมาเราเลยสังเกตมากขึ้นจนเห็นสินค้านั้นอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แบบกว้างหน่อยก็คือการเห็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นอาจเปรียบเทียบได้กับการเห็นคนเป็น LGBTQ+ มากขึ้น คำถามคือการเป็นมากขึ้นนี้เป็นเพราะมิติทางสังคม คือจำนวนไม่ได้มากขึ้นหรอกแต่สังคมให้การยอมรับคนเลยกล้าเปิดเผย หรือเป็นเพราะแง่กายภาพ อย่างรูปแบบการใช้ชีวิตปัจจุบันอาจไปมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เราคิดเอียงไปทางสังคมมากกว่า แต่ก็ไม่รู้แน่ชัด เผื่อใครมีงานวิจัยหรือหนังสือที่อธิบายเรื่องนี้ได้ก็อยากให้แนะนำมา
จุดสมดุลของจิตวิทยาคือ เรื่องของจิตใจเป็นส่วนผสมระหว่างสภาพร่างกาย กับสภาพแวดล้อม
ความเชื่อที่หนึ่ง ตอนที่รู้ว่าเพื่อนคนนึงเป็นซึมเศร้าก็คือเพื่อนมองว่าคนอย่างเราน่าจะเป็นมากกว่า เพราะเราเป็น introvert ชอบอยู่กับตัวเอง คิดอะไรลึกซึ้ง ดูมีแววว่าจะซึมเศร้า (depress ถ้าแปลตรงตัวก็คือการกดเก็บอารมณ์)
ความเชื่อที่สอง คือเราเชื่อตรงข้าม เพราะจากที่สังเกตมาคนที่เป็นซึมเศร้าส่วนใหญ่ (ที่เจอ) มักเป็น extrovert แล้วเราก็คิดในหลักเหตุผลว่ามันสัมพันธ์กับอาการ bipolar ที่คนกลุ่มนี้เวลาสนุกก็จะสนุกมาก เวลาเศร้าก็จะเศร้ามาก แสดงอารมณ์ออกมาได้มากกว่าคนแบบเรา
เราเลยลองลงเรียนคอร์ส Abnormal Psychology ของม. Penn State ใน Coursera ดู (ม.นี้ดังในเรื่องจิตวิทยา อย่างอาจารย์ Angela Duckworth ที่เขียนเรื่อง Grit ก็อยู่ที่ ม.นี้) แต่ว่าก็เป็นแค่คอร์ส introduction นะ ยังไม่สามารถอธิบายอะไรได้มาก ปรากฏว่าทั้งความเชื่อที่หนึ่งและสองผิดทั้งคู่ introvert และ extrovert (ถือเป็นหมวดบุคลิกภาพ) ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถทำนายเรื่องการเป็นโรคซึมเศร้าได้ แล้วคนที่เราเห็นว่าเป็นโรคซึมเศร้า หลัง ๆ มานี่ก็เป็น introvert ซะเยอะแล้ว
โรคซึมเศร้า (Depression) โรคตื่นตระหนก (Panic Attack) และ Bipolar มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน
*ขอเขียนแค่โรคซึมเศร้าเพื่อความกระชับ
เวลาเราอยากทำความเข้าใจจิตใจใครซักคน เราจะพิจารณาจาก 2 อย่าง อย่างแรกก็คือสภาพร่างกาย ตั้งแต่สิ่งที่สัมผัสได้ง่ายแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เดินมาเหนื่อย ๆ เหงื่อแตกเต็มตัว ไม่ได้กินข้าวมา อย่าเพิ่งชวนคุยเรื่องซีเรียส ไปจนถึงเรื่องภายในอย่างเคมีในสมอง อย่างที่สองคือสภาพแวดล้อม ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างไร ดูแล้วสนิทกับพ่อหรือแม่มากกว่า เรื่องที่เขาเล่าเวลาเมา หรือมักมีความรู้สึกกับเรื่องอะไรบ้าง มันคือจุดสมดุลของจิตวิทยาหากเราอยากทำความเข้าใจจิตใจผู้อื่น ทั้งจิตวิทยาทั่วไป และจิตวิทยาแบบไม่ปกติ สำหรับคนที่เป็นโรคทางจิต ซึ่งเรื่องซึมเศร้า แพนิค และไบโพลาร์ ถือเป็นโรคพื้นฐานที่พบบ่อยมากที่สุด
ทีนี้ทั้งในคอร์สออนไลน์และหนังสือเรื่อง Reason to Stay Alive ของแมตต์ เฮก (เป็นบันทึกประสบการณ์ของนักเขียนนิยายที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า) บอกตรงกันตรงที่ว่าการรักษาหนึ่งคือเรื่องยาที่ปรับสมดุลของเคมีในสมอง ประเด็นนี้สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่หมอ เราคงไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้นอกจากการเตือนเรื่องให้กินยา สองคือการอยู่เคียงข้างและรับฟังเรื่องราวของเขา ข้อควรระวังก็คือการอย่าใส่ความคิดเห็นแบบทั่วไปลงไป เช่น บอกว่า…กูเห็นคนที่เจอมาหนักกว่า เขายังไม่เห็นเป็นอะไรเลย พยายามอย่าด้อยค่าความทุกข์ของคนที่เป็น ความสามารถในการรับมือเรื่องกระทบใจของแต่ละคนย่อมต่างกัน แต่อันนี้ยังค่อนข้างชัดนะ มันเหมือนเป็น sense ร่วมสมัยอยู่แล้วว่าเราไม่ควรพูด หรือทำกิริยาใด ๆ ที่มันดูเป็นการด้อยค่าผู้อื่น มีเรื่องที่วางตัวได้ยากกว่านั้นก็คือบางทีคำเชิงให้กำลังใจก็อาจจะไม่เวิร์คก็เป็นได้…เอาน่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป…สู้ ๆ นะ อาจกลายเป็นคำทริกเกอร์ที่แย่กว่าการด้อยค่าความรู้สึกเขาก็เป็นได้
ถ้าไม่แน่ใจ แค่อยู่ข้าง ๆ คอยรับฟังก็เพียงพอแล้ว
คงเป็นไปไม่ได้ที่เราไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นแฟน เป็นญาติใด ๆ ก็ตาม จะไปอยู่กับเขาได้ตลอดเวลา…เวลาคนเป็นโรคซึมเศร้าอยู่คนเดียว ความคิดจะวิ่งไปเรื่อย จนไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ คำถามที่น่ากลัวที่สุดก็คือเราเกิดมาเพื่ออะไร เพราะหากหาคำตอบไม่ได้ นั่นคงหมายความว่าเขาไม่ควรเกิดมาสินะ
แต่ด้วยคำถามเดียวกันนี้ เขียนแบบเล่นใหญ่…เป็นคำถามที่ทำให้เกิดศาสตร์ทั้งหมดบนโลกใบนี้
สำหรับเราแล้วปรัชญาคือวิธีการตั้งคำถาม จัดระเบียบความคิด และปล่อยวางได้
เพราะรู้ว่าบางคำถามก็ไม่ต้องการคำตอบ
มีปกรณัมกรีกเรื่องนึง ที่ถูกตีความใหม่โดย Albert Camus นักเขียนชาวฝรั่งเศส (เขาเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลจากเรื่อง “คนนอก” แต่คนชอบบอกว่าเขาเป็นนักปรัชญา) เป็นเรื่องของซีซิฟุส โดยย่อคือซีซิฟุสเป็นกษัตริย์ที่ชาญฉลาดที่สามารถหลอกความตายได้สองครั้ง (หลอกทั้งยมทูตและฮาเดส เทพแห่งความตายโดยตรง) ในครั้งที่สามที่เป็นวันสิ้นอายุขัยจริงจัง เหล่าทวยเทพนำโดยซุสและเฮอเมสจึงต้องออกอุบายในการเอาวิญญาณของซิซีฟุส โดยการพาเขาลงไปในถ้ำ โดยในถ้ำนั้นจะมีปล่องอยู่ตรงกลางแล้วมียอดเขาสูงพาดไปถึง เฮอเมสก็บอกกับซิซีฟุสว่าเหล่าทวยเทพตกลงกันแล้วว่า เนื่องจากท่านเป็นมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดที่เคยมีมา ท่านเห็นยอดเขาที่พุ่งทะลุปล่องตรงนั้นใช่ไหม ถ้าท่านสามารถกลิ้งหินกลมก้อนใหญ่ก้อนนี้ขึ้นออกไปจากปล่องถ้ำนี้ได้ ทวยเทพจะให้ชีวิตอมตะแก่ท่าน
ซิซีฟุสก็ลองดูซักตั้ง ตั้งแล้วตั้งเล่า เข็นหินขึ้นภูเขาอยู่หลายครั้ง แต่พอเกือบจะทะลุปล่องขึ้นไปได้ก็จะหมดแรงก่อน แล้วหินก็จะตกลงมา ให้ซิซีฟุสเข็นใหม่ไปตลอดกาล
มีคนตีความว่าการกลิ้งหินของซิซีฟุสก็เหมือนการทำงานที่ไร้ความหมาย การทำงานเป็นรูทีนในโรงงาน การทำงานแบบ 9 to 5 คนฉลาดที่สามารถโกงความตายได้อย่างซิซีฟุส จะไม่รู้เชียวหรือว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ ใครจะบอกได้ว่าทุกวันที่ซิซีฟุสกลิ้งหิน ได้หยุดพักเหนื่อยมองลงมาดื่มด่ำกับทิวทัศน์ที่เบื้องล่างเขาจะไม่มีความสุข
เราเกิดมาเพื่ออะไร แนวทางที่หนึ่ง Determinism หรือนิยัตินิยม ภาษาอังกฤษฟังดูยากแล้วนะ ศัพท์บัญญัติภาษาไทยดูยากกว่าอีก ภาษาแปลแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือเรื่องแบบพรหมลิขิต โชคชะตาฟ้าลิขิตไรงี้ คือเชื่อว่าชีวิตเราถูกกำหนดเส้นทางบางอย่างไว้อยู่แล้ว เมื่อเราเกิดมาหน้าที่หลักก็คือการหาเส้นทางชีวิตของเราให้เจอ ผลลัพธ์ของความเชื่อเช่นนี้ก็คือ เราจะทำสิ่งที่มัน beyond ไปจากตัวเราเอง ตั้งแต่ระดับอยากทำงานช่วยเหลือสังคม ช่วยเด็กด้อยโอกาสในชุมชน อยากเป็นที่หนึ่งในสิ่งที่ตัวเองทำ ไปจนถึงเรื่องที่ยิ่งใหญ่อย่างทำให้ประเทศมีที่ยืนในชุมชนโลก
แนวทางที่สอง Free will หรือเจตจำนงค์เสรี ตรงข้ามกับแนวทางแรก คนที่เชื่อแนวนี้จะมองว่าเราเกิดมาเป็นอิสระ พูดแบบลูฟี่ (วันพีซ) จะเป็นว่าคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกไม่ใช่คนที่ครอบครองทุกอย่าง แต่เป็นคนที่มีอิสระมากที่สุด ผลลัพธ์ก็คือเราอาจจะไม่ได้มองเรื่องที่เหนือไปจากตัวเอง เรามีชีวิตก็เพื่อใช้ชีวิต มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ กับครอบครัวของเราเอง หาความหมาย หาแง่งามให้กับชีวิตประจำวันของเราเองก็เพียงพอ